ปศุสัตว์เตือนผู้เลี้ยงโค-กระบือ นำสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย-คอบวม มักแพร่ระบาดช่วงหน้าหนาว ระดมเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อพื้นที่เสี่ยง ป้องกันการระบาด หากพบอาการผิดปกติ รีบแจ้งด่วน…
ปศุสัตว์จังหวัด แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ และสุกร ให้ระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น พร้อมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรนำโค-กระบือ ที่มีอายุ 4 เดือนขึ้นไป มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยตามจุดต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ออกให้บริการ เนื่องจากช่วงสภาพอากาศหนาว จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ เอื้อต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากเท้าเปื่อยและโรคคอบวม ที่มักระบาดในโค-กระบือ ทั้งนี้มีเป้าหมายจะดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยในโค-กระบือ ให้ครบ 80 เปอร์เซ็นต์ ดำเนินการฉีดป้องกันทุกปี ปีละ 2 รอบ คือ ช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. และช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. นอกจากนั้น ยังมีการระดมเจ้าหน้าที่ออกฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตามตลาดนัดโค-กระบือ โรงฆ่าสัตว์ คอก หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งจังหวัด เพื่อป้องกันโรคระบาดในสัตว์อีกทางหนึ่งด้วย
ปศุสัตว์จังหวัดยังระบุอีกว่า หากเกษตรกรรายใดพบว่า โค-กระบือ ที่เลี้ยงไว้มีอาการป่วยผิดปกติ มีแผลตามริมฝีปากและกีบเท้า น้ำลายไหล เซื่องซึม หรือป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เข้าไปตรวจสอบเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาดในสัตว์ได้ง่าย และหากมีการระบาดจะทำให้ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมป้องกันอย่างเข้มงวด
โรคปากและเท้าเปื่อย หรือ FMD (Foot and Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสพบได้ในสัตว์ที่มีกีบคู่เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และกวาง ยกเว้นม้า ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมีอยู่หลายชนิดและหลายสายพันธุ์ ปัจจุบันมี 7 ชนิดคือ ชนิด A,O, C, SAT 1, SAT 2, SAT 3 และAsia 1 สำหรับในประเทศไทยพบ 3 ชนิดคือ ชนิด A, O และ Asia 1
อาการของโรค
ในระยะแรก หลังจากได้รับเชื้อไวรัสปากและเท้าเปื่อย 2 – 8 วัน สัตว์จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เกิดเม็ดตุ่มใสที่เยื่อบุภายในช่องปากหรือลิ้น หรือเหงือก หลังจากนั้นตุ่มใสจะแตก และเนื้อเยื่อจะลอก ทำให้สัตว์เจ็บปาก กินอาหารลำบากจนกระทั่งกินอาหารไม่ได้
ในระยะที่สอง เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย ผิวหนังที่เท้าจะบวมแต่ง มีน้ำเหลืองขังอยู่ภายในแล้วแตกออกเป็นแผล มักพบบริเวณไรกีบหรือซอกกีบ ซึ่งอาจเปื่อย ลอกคราบ และอาจทำให้ขาสัตว์เสียได้ นอกจากนั้นหากเกิดในโคนมจะทำให้อัตราการให้นมลดลง และจะหยุดให้นมในที่สุด หากเกิดในโคเนื้อและสุกรจะทำให้สัตว์น้ำหนักลด มีผลให้เกษตรกรสูญเสียทั้งเงินและเวลาในการเลี้ยง และหากเกิดในสัตว์ที่กำลังท้อง อาจทำให้สัตว์เกิดการแท้งและมีปัญหาการผสมไม่ติดได้
การควบคุมและป้องกันโรค
1. การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา
2. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคปากและเท้าเปื่อย โดยการฉีดวัคซีน
3. การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์
4. การทำลายสัตว์ป่วย
วิธีป้องกัน
1. งดนำสัตว์เข้าเลี้ยงใหม่ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด
2. ห้ามยานพาหนะเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะรถที่เข้าฟาร์มหลายแห่ง เช่น รถรับซื้อโค-กระบือ และสุกร
3. ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
4. ฉีดวัคซีนปากและเท้าเปื่อยครั้งแรกตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน
5. ฉีดกระตุ้นซ้ำหลังฉีดครั้งแรก 3-4 สัปดาห์ ต่อจากนั้นฉีดทุก 4 เดือน