เจาะลึกเหตุผลโคอเมริกันบาร์มันพันธุ์แท้ (เลือดร้อย) ทำไมถึงมีราคาสูงและคุณภาพของเนื้อมีความแตกต่างจากสายพันธุ์พื้นเมืองหรือไม่ ?
เหตุผลที่ผู้เขียนได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเนื่องจากต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับราคาและความยุ่งยากในการพัฒนาโคบราห์มันพันธุ์แท้ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรบางท่านยังไม่เข้าใจถึงหลักการพัฒนา บ้างก็มีอคติเกี่ยวกับความแตกต่างของบราห์มันพันธุ์แท้และลูกผสมซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าความคิดเหล่านั้นอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดตลอดจนการนำไปสู่ความรู้สึกเชิงลบเกี่ยวกับโคอเมริกันบาร์มันพันธุ์แท้ฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพัฒนาเบื้องต้นกันก่อนครับ ซึ่งการที่เราจะพัฒนาให้ได้บราห์มันพันธุ์แท้ 1 ตัวนั้น ผู้พัฒนาจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือคือแม่พันธุ์โคพื้นฐาน 1 ตัว (ต้องไม่เป็นสายเลือดยุโรปเหตุผลเพราะสมาคมจะไม่รับจดทะเบียนวัว F จากแม่พันธุ์ที่มีเชื้อสายมาจากสายเลือดยุโรปเพราะอาจส่งผลถึงการแสดงลักษณะทางพันธุกรรมที่มีลักษณะด้อยที่ไม่พึงประสงค์ออกมาเช่น ขนตาขาว กีบขาว จมูกขาว ขนหางขาว ฯลฯ) และน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคอเมริกันพันธุ์แท้หรือพ่อพันธุ์โคบราห์มันพันธุ์แท้ที่มีหลักฐานการจดทะเบียนจากสมาคมทั้งในประเทศและต่างประเทศมา เรามาดูหลักการพัฒนาจากภาพประกอบกันครับ
รุ่น F1/ระดับสายเลือดบราห์มัน (50%) = โคพื้นฐาน ผสมกับพ่อบราห์มัน 100 %
รุ่น F2 /ระดับสายเลือดบราห์มัน (75%) = แม่ 50 % ผสมกับพ่อบราห์มัน 100 %
รุ่น F3 /ระดับสายเลือดบราห์มัน (87.5%)=แม่ 75 %ผสมกับพ่อบราห์มัน 100 %
รุ่น F4/ระดับสายเลือดบราห์มัน (93.75%)=แม่ 87.5 %ผสมกับพ่อบราห์มัน 100 %
รุ่น F5 สมาคมถือว่าเป็นบราห์มันพันธุ์แท้ในภาพประกอบจึงเขียนเป็น 100 เพื่อความง่ายต่อความเข้าใจ
จากภาพในขั้นแรกเมื่อเราทำการผสมพันธุ์ระหว่างบราห์มันพื้นฐานและน้ำเชื้อของบราห์มันพันธุ์แท้ ลูกที่ออกมาจะมีสายเลือดบราห์มัน 50 % และเมื่อจดทะเบียนกับสมาคมเราจะเรียกวัวตัวนั้นว่าเป็นวัว F1 (ในกรณีที่เป็นตัวเมียเท่านั้นเพราะสมาคมจะไม่รับจดวัว F ที่เป็นเพศผู้) ซึ่งจะต้องตีเบอร์ไล่ตามระดับสายเลือดที่ขาหน้าข้างเดียวกับสัญลักษณ์ของฟาร์มเพื่อเป็นบรรทัดฐานตามกฎของสมาคม เมื่อเราได้วัว F1 มาแล้วเราต้องเลี้ยงไปถึงระยะเจริญพันธุ์ที่สามารถผสมได้เฉลี่ยประมาณ 1.8 ปี แล้วนำไปผสมพันธุ์กับน้ำเชื้อของบราห์มันพันธุ์แท้ที่เตรียมไว้ อุ้มท้อง 9 เดือน เมื่อคลอดก็จะเป็นบราห์มัน F2 ตีเบอร์จดทะเบียนกับสมาคม พัฒนาอย่างนี้วนไปจนถึง F5 (ลูก F4) ซึ่งทางสมาคมได้กำหนดไว้ว่าF5 ถือเป็นบราห์มันพันธุ์แท้ เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาบราห์มันพันธุ์แท้ได้แต่ละตัวจากบราห์มันพื้นฐานใช้ระยะเวลามากกว่า 10 ปี ซึ่งในที่นี้ไม่นับตัวแปรอื่นใดเช่น ลูกโคตาย ได้ลูกโคตัวผู้ หรือโคผสมติดยาก เห็นแล้วหรือยังครับว่าอะไรที่ทำให้ราคาของบาร์มันพันธุ์แท้ในปัจจุบันมีราคาสูง แต่เดี๋ยวก่อนนี่เป็นเพียงแค่ส่วนนึงเท่านั้นครับเพราะราคาของบราห์มันพันธุ์แท้ยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยเช่น ราคาน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่ใช้ปรับปรุง การเลี้ยงดู อาหาร ผลงานในสนามประกวด การตลาด แบรนด์ตลอดจนความน่าเชื่อถือของฟาร์ม ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกกำหนดด้วยราคาที่แตกต่างกัน ทีนี้มาดูอีกหนึ่งรายละเอียดที่อยากชี้แจงให้เกษตรกรที่ยังมีความเชื่อที่ว่า “วัวทุก ๆ สายพันธุ์นั้นเหมือนกันเพราะวัวทุกตัวมีจุดจบที่เขียงเนื้อ” ซึ่งก็จริงครับคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวัวทุกตัวจบที่เนื้อ แต่เดี๋ยวก่อนครับก่อนที่วัวบราห์มันหนึ่งตัวจะจบที่เนื้อมันยังทำประโยชน์ได้อีกมากมาย อทิเช่น
- เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ดีอัดแน่นด้วยพันธุกรรมชั้นเลิศ มีใบพันธุ์ประวัติที่ออกโดยสมาคมโคบราห์มันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งใบพันธุ์ประวัติเปรียบเสมือนบัตรประชาชนของสัตว์เหล่านั้นซึ่งจะบ่งบอกถึงการสืบเชื้อบน (พ่อ) และล่าง (แม่) มักถูกซื้อขายด้วยราคาที่ไม่ได้อ้างอิงจากราคาเนื้อแต่อ้างอิงจากราคาของพันธุกรรมที่ทางฟาร์มเป็นคนกำหนด
- ผลิตน้ำเชื้อขายให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุกรรมซึ่งปัจจุบันน้ำเชื้อที่รีดขึ้นมาจะต้องมาจากสถานที่รีดที่มีมาตรฐานและผ่านการรับรองจากภาครัฐ
- การผลิตตัวอ่อนเพื่อย้ายฝากตัวอ่อนให้กับแม่ตัวรับ หรือที่เรียกว่า (Embryo) เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการขยายพันธุ์สัตว์ในปัจจุบัน
- จำหน่ายซากคิดราคาอ้างอิงจากราคาหน้าฟาร์มหรือราคากิโลกรัมของผู้รับซื้อ
นอกจากในแง่การพัฒนาแล้วหากเราพิจารณาในด้านรสชาติของเนื้อจริงหรือที่รสชาติของเนื้อไม่มีความแตกต่างกันระหว่างเนื้อโคพื้นบ้าน โคลูกผสม โคบราห์มันพันธุ์แท้ซึ่งมีบุคคลบางกลุ่มที่ออกมาพูดทำนองดูถูกเย้ยหยัน เช่น “การนำเนื้อบราห์มันเลือดร้อยมาทำอาหารเป็นลาบ ก้อยจะอร่อยเหมือนโคพื้นบ้านหรือเปล่า” อืมม!!! คือผมจะอธิบายอย่างนี้แล้วกันครับในการพัฒนาวัว F การพัฒนาหรือยกระดับสายพันธุ์ในแต่ละรุ่นมักจะมี 1 ปัจจัยที่เพิ่มเข้ามาเสมอคืออัตราไขมันแทรกและความนุ่มของเนื้อและหากนำเนื้อโคพื้นบ้านกับโคบราห์มัน F สูง ๆ มาเปรียบเทียบกันแล้วก็จะพบถึงความแตกต่างของเนื้อทั้งสองอย่างสิ้นเชิง ซึ่งลักษณะทางกายภาพของเนื้อโคพื้นบ้านจะมีลักษณะเนื้อเหนียวไขมันแทรกต่ำแตกต่างกันกับเนื้อโคที่ถูกพัฒนาระดับสายเลือดเนื้อจะนุ่มและไขมันแทรกมาก ซึ่งเนื้อแต่ละประเภทก็เปรียบเสมือนหวีหากนำหวีมาแปรงฟันมันก็ไม่สะอาดเพราะหวีโดยธรรมชาติเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดแต่งทรงผมถึงแม้จะออกแรงขัดเท่าไหร่ก็ไม่ได้ทำให้ฟันมันสะอาดขึ้น เนื้อโคแต่ละประเภทก็เช่นกันทำไมเนื้อโคพื้นบ้านถึงได้รับความนิยมและถูกนำมาประกอบอาหารอีสานประเภทลาบ ก้อย เหตุผลก็เพราะว่าโดยธรรมชาติเนื้อโคพื้นบ้านมักมีลักษณะทางกายภาพที่เหนียวไขมันน้อยจึงเหมาะสมกับอาหารอีกสานประเภทดังกล่าวเพราะถ้าหากนำเนื้อของโคบราห์มันเลือดร้อยหรือโคสายเลือดยุโรปที่มีไขมันแทรกมาก ๆ ไปมาประกอบอาหารอีสานคงไม่เหมาะเป็นแน่เพราะนอกจากราคาที่สูงลิ่วแล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ได้ดีแถมรสชาติยังแย่ไปกว่าเดิม นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่มีใครนำเนื้อโคเกรดพรีเมี่ยมมาประกอบอาหารอีสานเพราะเนื้อเกรดพรีเมี่ยมเหล่านี้เหมาะกับการทำสเต็กหรืออาหารชั้นสูงที่มีลักษณะเฉพาะมากกว่า
การที่เราจะได้สินค้าคุณภาพหนึ่งชิ้นเราต้องเสียทั้งเวลา ศึกษาหาความรู้ ตลอดจนขั้นตอนในการพัฒนาเปรียบกับโคหากเราอยากได้พันธุ์กรรมที่ดีแต่หากไม่มีงบประมาณเราก็ต้องค่อย ๆ พัฒนาแต่หากเราไม่อยากเสียเวลาเราก็สามารถใช้เงินตราเพื่อย่นระยะทางนี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่คนบางกลุ่มยอมเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อพันธุกรรมดี ๆ ดีกว่าเสียเวลาเป็น 10 ปีในการพัฒนา
ในยุคของสังคมแห่งปัญญาชนการที่เราจะตัดสินหรือการแสดงความคิดเห็นอะไรนั้น ควรตัดสินกันด้วยเหตุและผล ไม่ควรนำอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะนอกจากจะได้ผลลัพธ์ที่ผิด ๆ แล้ว ผู้อื่นอาจตีความผิดเพี้ยนจนนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ผิด ๆ เพราะบางคนพัฒนาโคมาทั้งชีวิตแต่ยังไม่ได้โคในแบบที่ฝันเพราะฉะนั้นหยุดเย้ยหยันแล้วหันมาพัฒนาคุณภาพโคเนื้อของไทยกันดีกว่าครับ
ข้อมูลจาก บาสพีดีบาร์ฟาร์ม สกลนคร