ลักษณะประจำพันธุ์
เขาและกีบเท้า มีสีน้ำตาลส้ม ขอบตา และเนื้อจมูก มีสีชมพูส้ม ขนพู่หา สีขาวไม่มีเหนียงสะดือ ขนาดเหนียงปานกลางไม่พับย่นมาก เหมือนกับโคบราห์มัน น้ำหนักแรกเกิด 18 กก. น้ำหนักหย่านมเมื่ออายุ 200 วันเฉลี่ย 122 กก. น้ำหนักโตเต็มที่เพศผู้ 350-450 กก. เพศเมีย 300-350 กก. อายุเมื่อให้ลูกตัวแรก 2.5 ปี ระยะการอุ้มท้อง 290-295 วัน ช่วงห่างการให้ลูก 460 วัน
การกระจายของประชากร โคขาวลำพูนเป็นโคพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์หนึ่ง ประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด กลุ่มคนบางคนเล่าว่า เกิดจากการกลายพันธุ์ของโคพื้นเมืองในสมัยพระนางจามเทวี เป็นสัตว์คู่บารมีของชนชั้นปกครองสมัยนั้น จากการออกสำรวจของเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกี่ยวกับข้อมูลของโคขาวลำพูน โดยออกเยี่ยมเยียนเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ข้อมูลในลักษณะเดียวกันว่า
“โคขาวลำพูน ได้พบเห็นมาช้านานแล้วอย่างน้อยก็ 70 -80 ปี และจะพบเห็นมากที่สุดในเขตพื้นที่ของจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เท่านั้น”
เกษตรกรบางท่านเล่าว่า “ชาวเมืองลำพูนนิยมใช้โคขาวลำพูนลากเกวียน เพราะจะทำให้มีสง่า ราศีดี เนื่องจากเป็นโคที่มีลักษณะใหญ่และมีสีขาวปลอดทั้งตัว ใครที่มีโคขาวลำพูนเทียมเกวียนในสมัยก่อนเปรียบได้กับการมีรถเบนซ์ไว้ขับในสมัยนี้นั่นเอง และเนื่องจากมีต้นกำเนิดที่จังหวัดลำพูน จึงเรียกโคพันธุ์นี้ว่า “โคขาวลำพูน” จากคุณสมบัติที่มีลักษณะเด่นและเป็นลักษณะเฉพาะพันธุ์ โคขาวลำพูนจึงได้รับการคัดเลือกเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ