ซุ่มพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อไทยให้กลายมาเป็นเนื้อระดับพรีเมียม นุ่มเนียน มีไขมันแทรกระดับเดียวกับเนื้อวากิว หรือเนื้อโกเบ มานานร่วม 12 ปี
วันนี้กรมปศุสัตว์พร้อมเปิดตัวโคเนื้อพันธุ์ใหม่ “ไทยแบล็ก-วากิว” ให้บรรดาไฮโซผู้นิยมได้ลองลิ้มชิมรสเนื้อวากิว เมด อิน ไทยแลนด์…เป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนได้ยกระดับตัวเอง ผลิตสินค้าปศุสัตว์ระดับพรีเมียมได้ไม่อายใคร
“เราเล็งเห็นมานานแล้ว ในอนาคตตลาดจะมีความต้องการบริโภคเนื้อคุณภาพ เพราะประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว นักธุรกิจเข้ามาลงทุนบ้านเรามากมาย โดยเฉพาะญี่ปุ่นปีละหลายล้านคน ร้านอาหารญี่ปุ่นในบ้านเราเติบโตอย่างรวดเร็ว ความ ต้องการบริโภคเนื้อมีสูง แต่ที่ผ่านมาเนื้อเกรดคุณภาพล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ โคเนื้อในบ้านคุณภาพสู้เขาไม่ได้ จึงมีแนวคิดปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อของบ้านเราให้มีคุณภาพเทียบชั้นเนื้อวากิว”
น.สพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยถึงที่มาของโคเนื้อพันธุ์ใหม่ “ไทยแบล็ก-วากิว (Thai Black Wagyu)” อันเกิดจากการนำแม่พันธุ์โคเนื้อพื้นเมืองของไทยมาผสมน้ำเชื้อโคเนื้อพันธุ์แองกัส จากสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นพันธุ์ที่โตเร็ว เนื้อมีคุณภาพดี นุ่มมีไขมันแทรก และเป็นพันธุ์โคขุนชั้นเยี่ยมได้รับการยอมรับในระดับโลก ที่สำคัญตัวเป็นสีดำ เหมือนวัววากิว หรือวัวญี่ปุ่น
จนได้เป็นวัวลูกครึ่งไทย-แองกัส ทำการคัดเลือกวัวเพศเมียลูกครึ่งลักษณะดี มีไขมันแทรกสูง โดยใช้วิธีตรวจสอบไขมันด้วยอัลตราซาวนด์ และตรวจ DNA มาเป็นแม่พันธุ์เพื่อผสมน้ำเชื้อกับวัววากิวจากญี่ปุ่นอีกชั้นหนึ่ง
แต่กว่าจะได้เป็นไทยแบล็ก-วากิว ไม่ใช่ว่าเอาแม่โคลูกครึ่งมาผสมกับน้ำเชื้อวากิวแล้วจะได้เลย…ต้องผสมพันธุ์อย่างน้อยอีก 2 รุ่น เพื่อให้ได้โคเนื้อที่มีสายเลือดวากิว 75% แองกัส 12.5% พื้นเมืองไทย 12.5% และเพื่อให้ชัวร์ว่าใช่พันธุ์ที่เราต้องการแน่ ต้องใช้วิธีตรวจอัลตราซาวนด์ และ DNA วัวมีสายเลือดที่นิ่งแล้ว ถึงจะสามารถนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงได้
“ตอนนี้เราได้เริ่มส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายที่ จ.ลพบุรี ไปแล้ว แต่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบ ไม่ต้องการเน้นปริมาณ เพราะต้องเข้าใจว่าการเลี้ยงโคขุนนั้น เกษตรกรต้องลงทุนสูง กว่าจะขายได้ต้องใช้เวลาเลี้ยงและขุนนาน 2-3 ปี ที่สำคัญเกษตรกรจะขุนเลี้ยงได้ อย่างน้อยๆต้องมีประสบการณ์เลี้ยงวัวมาก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆจะให้เลิกทำนา แล้วให้เปลี่ยนมาเลี้ยงโคขุนเลย รับรองได้ว่าเจ๊งแน่ และภาครัฐจะถูกกล่าวหาเอาวัวอะไรไม่รู้มาหลอกให้เลี้ยงแล้วไม่โต”
ปัญหาสำคัญอีกประการ น.สพ.อยุทธ์ ให้เหตุผลถึงการไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงได้อย่างแพร่หลาย…ภาวะของตลาดเนื้อโคระดับพรีเมียม กลุ่มลูกค้าที่นิยมบริโภคยังอยู่ในวงจำกัด
ส่งเสริมให้เลี้ยงมากเกินไป ผลที่ตามมาเกษตรกรมีโอกาสเสี่ยงขาดทุนสูง เพราะการเลี้ยงวัว “ไทยแบล็ก-วากิว” ถ้าเกษตรกรมือไม่ถึง ขุนเลี้ยงไม่เป็น จะขาดทุนหนักกว่าเลี้ยงโคขุนซะอีก เพราะปัจจุบันราคาวัวขุนลูกผสมแองกัสอยู่ตัวละประมาณ 7-8 หมื่นบาท ยิ่งมีสายเลือดผสมวัววากิวเข้าไปอีก ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ฉะนั้น ถ้าเรายังหาตลาดมารองรับไม่ได้…ส่งเสริมมากไป ปัญหาจะเป็นเหมือนยางพาราที่แห่เฮโลปลูกกันไปทั่วอย่างในวันนี้.
ขอบคุณข้อมูลจาก
ชาติชาย ศิริพัฒน์
https://www.thairath.co.th/content/564802