นายมนัส เรียบร้อย รองประธานสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด เผยว่า หลังจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้นำโคเนื้อสายพันธุ์บราห์มัน โคพันธุ์พื้นเมือง และโคพันธุ์ชาโรเลส์มาปรับปรุงสายพันธุ์ กระทั่งได้โคลูกผสมพันธุ์กำแพงแสน ที่สามารถเข้ากับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศไทย และได้นำมาส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์เลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้ ส่งแปรรูปภายใต้แบรนด์ KU Beef จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าเนื้อทุกชิ้นที่ซื้อมีความสะอาด ไร้สารปนเปื้อน กระบวนการเลี้ยงไปจนถึงการแปรรูปถูกสุขอนามัย
สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสนจึงร่วมกับ มกอช. กรมปศุสัตว์ นำระบบตรวจสอบย้อนกลับ Q Traceability มาใช้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ชิ้นเนื้อมาจากฝูงโคฟาร์มไหน ใครเป็นผู้เลี้ยง โรงชำแหละอยู่ที่ใด ข้อมูลต่างๆจะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจได้เนื้อคุณภาพ มีความปลอดภัย
“เนื้อโคขุนกำแพงแสน KU Beef โดดเด่นจากเนื้อโคทั่วๆไปในด้านความนุ่ม เพราะโคที่นำมาชำแหละจะคัดเลือกเฉพาะโคหนุ่ม ที่กระบวนการเลี้ยง การให้อาหารต้องมีไขมันแทรกพอดี โคขุนทุกตัวเมื่อได้กำหนดชำแหละ จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัย ทุกขั้นตอนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน”
นายมนัส กล่าวอีกว่า ขณะนี้สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสนมีกำลังการผลิต 1,500 ตัวต่อปี ตลาดหลักทางสหกรณ์ได้เชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์กับสหกรณ์ขุนโคจังหวัดตาก เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมส่ง-จำหน่ายในพื้นที่แถบภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังส่งเนื้อไปจำหน่ายห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร แผงค้าเนื้อ ปศุสัตว์ OK เขียงสะอาด รวมทั้ง Ku beef Butcher ใน ม.เกษตรฯ กำแพงแสน และบางเขน รวมทั้งตลาด อ.ต.ก. ล่าสุดได้ทดลองทำตลาด Ku beef Food Truck รถจำหน่ายเนื้อเคลื่อนที่ มุ่งรองรับตลาดกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ซึ่งเมนูที่ได้รับความนิยมคือ เคยูบีฟวากิว เนื้อย่าง รวมทั้งเบอร์เกอร์ ไส้กรอก คาดว่าในปีนี้การส่งขายตลาดกลุ่มต่างๆสามารถทำรายได้ 120 ล้านบาท.
ขอบคุณข้อมูลจาก
ชาติชาย ศิริพัฒน์
https://www.thairath.co.th/content/564802