โคขุน และการเลี้ยงโคขุน หมายถึง การเลี้ยงโคที่ยังอายุน้อยให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ โดยการให้อาหารแก่โคที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งอาหารหยาบ และอาหารข้นอย่างเต็มที่ ในสภาพการเลี้ยงแบบขังคอกอย่างเดียวหรือร่วมกับการปล่อยแปลงหญ้า
ผู้เลี้ยงโคขุนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
- ผู้เลี้ยงเพื่อผลิตลูกโคขุน หรือเรียก ฟาร์มพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ โดยจะเลี้ยงแม่พันธุ์โคเพื่อผลิตลูกโค เมื่อลูกโคหย่านม (7-8 เดือน) ก็จะขายให้แก่ผู้เกษตรกรรายอื่นเพื่อนำไปขุนหรือเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป การเลี้ยงลักษณะนี้มักมีแม่พันธุ์หลายตัว และต้องใช้พื้นที่มากพอ
- ผู้เลี้ยงโคขุน เป็นการเลี้ยงโคขุนที่ได้จากการซื้อลูกโคหรือซื้อโคที่มีอายุน้อยจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาเลี้ยงดูให้เติบโตอย่างรวดเร็ว มักเป็นการเลี้ยงแบบคอกหรือปล่อยแปลงหญ้า ซึ่งอาจใช้พื้นที่มากตามจำนวนที่เลี้ยงโค
- ผู้เลี้ยงวัวมัน เป็นการเลี้ยงโคขุนที่ใช้โคที่มีอายุมากหรือร่างกายซูบผอมที่หาซื้อจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาเลี้ยงขุนให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นก่อนส่งจำหน่าย การเลี้ยงลักษณะนี้จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักโคที่เกิดจากฟื้นฟูโคให้มีกลับมาอ้วนหรือเป็นการเพิ่มไขมันเป็นหลัก เนื่องจากเป็นโคที่มีร่่างกายซูบผอมหรือมีอายุมากแล้ว
ประเภทธุรกิจโคขุน
1. แบ่งตามขนาดของกิจการ
– รายย่อย มักเลี้ยงโคขุนเพียง 2-10 ตัว โดยการใช้อาหารในท้องถิ่นหรืออาหารข้นที่เตรียมเอง รวมถึงการซื้อจากท้องตลาด มักใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก มีพื้นที่น้อย
– ขนาดกลาง เลี้ยงโคขุน 30-50 ตัว ต้องใช้พื้นที่มาก ทั้งคอกโค และแปลงหญ้า มีการใช้อาหารข้นที่ผสมเอง และต้องจ้างแรงงาน
– ขนาดใหญ่ มักเลี้ยงโคขุนมากกว่า 50 ตัว ขึ้นไป เป็นการเลี้ยงที่ต้องใช้พื้นที่มากทั้งคอก และแปลงหญ้า มีการใช้อาหารข้นที่ผสมเองเพื่อลดต้นทุน และใช้แรงงานคน รวมถึงการใช้เครื่องทุ่นแรงในการจัดการอาหาร
2. แบ่งตามตลาด
– ตลาดขั้นสูง ต้องการเนื้อที่มีคุณภาพ คือ เป็นเนื้อโคที่มีอายุน้อย (ขุนแล้วอายุไม่เกิน 3 ปี) ได้รับการเลี้ยงดู และให้อาหารข้นในปริมาณมาก ไม่น้อยกว่า 5 เดือน โคที่นำมาเลี้ยงมักเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตดี เมื่อขุนเสร็จจะได้ราคาสูง
– ตลาดชุมชน ตลาดประเภทนี้ต้องการโคที่อ้วน มีไขมันพอสมควร ไม่จำกัดอายุ ส่วนใหญ่จะใช้โคที่ปลดจากงาน มีเจริญเต็มที่แล้ว แต่ยังผอมอยู่ แล้วนำมาขุน 3-4 เดือน ด้วยอาหารข้นให้อ้วน ซึ่งส่วนน้ำหนักที่เพิ่มจะเป็นไขมันเป็นส่วนมาก เรียกโคประเภทนี้ว่า วัวมัน เนื้อมีราคาต่ำกว่าประเภทแรก แต่การเลี้ยงดูง่ายกว่า
ข้อพิจารณาการเลี้ยงโคขุน
พันธุ์โคขุน
แหล่งของโคที่นำมาขุน อาจได้จากลูกโคในคอกผู้เลี้ยงเองหรือซื้อลูกโคจากแหล่งขายโคต่างๆ เช่น ตลาดนัดโค-กระบือ
1. โคพันธุ์พื้นเมือง
เป็นโคที่เนื้อมีไขมันน้อย ไม่เป็นที่นิยมเลี้ยง เนื่องจากมีอัตราการเติบโตต่ำ น้ำหนักโคเมื่อขุนเสร็จประมาณ 380 กิโลกรัม ได้เปอร์เซ็นต์ซากประมาณ 51%
– เริ่มขุนที่น้ำหนัก 150 กิโลกรัม จะใช้เวลาขุน 1 ปี
– เริ่มขุนที่น้ำหนัก 200 กิโลกรัม จะใช้เวลาขุน 7-8 เดือน
– เริ่มขุนที่น้ำหนัก 250 กิโลกรัม ใช้เวลา 5-6 เดือน
2. โคลูกผสมบราห์มันพื้นเมือง
มีเลือดบราห์มันประมาณ 50-85 เปอร์เซ็นต์ มีไขมันแทรกปานกลาง น้ำหนักเมื่อขุนเสร็จประมาณ 450 กิโลกรัม มีเปอร์เซ็นต์ซากประมาณ 56%
– เริ่มขุนที่น้ำหนัก 150 กิโลกรัม จะใช้เวลาขุน 10-12 เดือน
– เริ่มขุนที่น้ำหนัก 200 กิโลกรัม จะใช้เวลาขุน 8-9 เดือน
– เริ่มขุนที่น้ำหนัก 250 กิโลกรัม จะใช้เวลาขุน 5-6 เดือน
3. โคลูกผสมสามสายเลือด
โคที่มีเลือดผสมสามสายพันธุ์ ได้แก่
– บราห์มัน พื้นเมือง และชาร์โรเล่ส์
– บราห์มัน พื้นเมือง และลิมัวซิน
– บราห์มัน พื้นเมือง และซิมเมนทัล
ลักษณะที่ดีของโคพันธุ์ผสมนี้ คือ เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว มีคุณภาพซากดี มีเนื้อมาก ไขมันน้อย นิยมเลี้ยงมาก คือ พันธุ์ผสมของชาร์โรเล่ส์ รองลงมา คือ พันธุ์ผสมของลิมัวซิน เนื่องจากพันธุ์ผสมของชาร์โรเล่ส์มีขนาดใหญ่กว่า และเติบโตดีกว่า
– เริ่มขุนที่น้ำหนัก 150 กิโลกรัม จะใช้เวลาขุน 10-12 เดือน
– เริ่มขุนที่น้ำหนัก 250 กิโลกรัม จะใช้เวลาขุน 6 เดือน
4. ลูกโคนม และแม่โคที่คัดทิ้ง
โคนมคัดทิ้งจะเป็นลูกโคเพศผู้ และแม่โคนมที่มีอายุมากแล้ว เนื่องจากไม่สามารถผลิตน้ำนมได้ พันธุ์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ พันธุ์เรดเดน และโฮลสไตน์ฟรีเชียน (ขาวดำ) เป็นโคมีคุณภาพซากไม่ดีนัก ให้เนื้อสะโพกเล็ก และเนื้อเหลว แต่มีราคาถูกกว่าโคพันธุ์อื่นๆ เมื่อรับซื้อมาขุน
5. โคพันธุ์ผสมอินดูบราซิล
เป็นโคที่มีเลือดผสมอินดูบราซิล นิยมเลี้ยงมากที่สุดในภาคอีสาน เป็นโคที่มีโครงร่างใหญ่ รูปร่างสวยงาม ใบหูใหญ่ ยาว นิยมนำมาขุนทั้งตัวเมีย และตัวผู้ที่มีสายเลือดอินดูบราซิลน้อย รูปร่างไม่สวยงาม ตัวไม่ใหญ่ ส่วนตัวผู้ และตัวเมียที่มีสายเลือดอินดูบราซิลมาก รูปร่างใหญ่ รูปทรงสวยงามจะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์เป็นหลัก
อายุโค
การขุนโคเนื้อ มักใช้โคที่จะขุนอายุระหว่างหย่านมจนถึง 1 ปี ทั้งนี้ จำเป็นต้องดูลักษณะภายนอก เช่น การพิจารณารูปร่าง ต้องมีความใหญ่ มีลักษณะไม่ผอมโซจนเกินไป เพราะโคอาจจะอยู่ในสภาวะโรคร้าย หรือมีพยาธิรบกวนมาก หรือขาดอาหารจนอยู่ในสภาพที่ขุนไม่ขึ้นแล้ว นอกจากนั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นให้นำมาร่วมพิจารณา คือ
- ลูกโคหลังหย่านม (อายุระหว่าง 8-16 เดือน) จนถึงอายุปีเศษ จะมีอัตราการเจริญเติบโตสูง
และตอบสนองต่ออาหารสูงสุด จะทำให้ผู้ทำการขุนได้กำไรสูง โคที่มีอายุต่ำกว่านี้จะมีปัญหาในการเลี้ยงดูมาก และมีอัตราการตายสูง - ถ้าลูกโคได้รับอาหารอย่างเต็มที่มาตั้งแต่แรกคลอดอย่างต่อเนื่อง อัตราการเจริญเติบโตต่อวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะสูงสุดเมื่อถึงอายุ 1 ปี จากนั้นอัตราการเจริญเติบโตจะเริ่มลดลง จนเมื่ออายุ 4-5 ปี หรือเต็มวัย อัตราการเจริญเติบโตจะลด น้ำหนักตัวจะเริ่มต่ำลง กรณีที่ซื้อโคที่อ้วนแล้วมาขุนจึงควรเลือกลูกโคที่มีอายุไม่เกิน 1 ปีจะดีที่สุด
- ถ้าหากว่าโคที่ซื้อมาขุนอยู่ในลักษณะผอม ไม่แคระแกร็น โคที่อายุ 2 ปี อัตราการเจริญเติบโตต่อวันจะมากกว่าโคอายุ 1 ปี และโคอายุ 1 ปี จะมีอัตราการเจริญเติบโตต่อวันสูงกว่าโคที่หย่านมแล้ว
- โคอายุ 2 ปี ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตต่อวันสูง บางครั้งเมื่อมองในแง่เศรษฐกิจแล้วมิใช่ว่าจะดีกว่าโคหย่านมเสมอไป เพราะโคอายุ 2 ปี ประสิทธิภาพในการใช้อาหารด้อยกว่าโคที่หย่านม หรือจะกินอาหารมากกว่าโคหย่านมในการเปลี่ยนน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเท่ากัน ดังนั้น ความสิ้นเปลืองอัตราการเจริญเติบโตต่อวันจึงไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากนักในแง่ของกำไรหรือขาดทุน
- กำไรจากส่วนต่างราคาหลังขุน เช่น ซื้อลูกโคมาขุนในราคา 15 บาท/กิโลกรัม เมื่อขุนเสร็จ ขายได้ในราคา25 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเิกิดจากการประเมินราคาจากรูปร่าง และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความผันแปรทางด้านราคาเนื้อโคที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันหรือความแตกต่างของราคาเนื้อโคในแต่ละท้องถิ่น
- โคอายุมาก มักมีปัญหาในการเลี้ยงดูน้อยกว่า ถ้าเพิ่งเริ่มต้นเลี้ยง และยังมีประสบการณ์น้อย ควรขุนโคใหญ่ก่อน เพราะโคใหญ่จะเลี้ยงขุนง่าย อัตราการเติบโตดี และไม่พบปัญหาในเรื่องโรค
- โคที่ใช้ขุนเพื่อส่งตลาดที่ได้จากการขุนลูกโค ควรมีอายุน้อยกว่า 3 ปี เนื่องจากจะมีคุณภาพเนื้อที่ดีมาก แต่หากเป็นโคหนุ่มหรือโคที่มีอายุมากจะไม่จำกัดอายุ
- ถ้าตลาดรับซื้อโคต้องการเนื้อโคที่ติดไขมันสีเหลือง ผู้เลี้ยงก็จะต้องซื้อหรือจัดหาโคที่มีอายุมาก คือ 4 ปี ขึ้นไปมาเลี้ยง แต่ไม่ควรนำโคที่มีอายุมากเกินไปมาขุน เพราะสุขภาพไม่ดี ขุนไม่ขึ้นมีโอกาสขาดทุนมาก
- การขุนโคใหญ่ใช้เวลาน้อยกว่าการขุนโคเล็ก เช่น โคเต็มวัย ใช้เวลาขุนนานประมาณ 3 เดือน โค 2 ปี ใช้เวลาขุนนานประมาณ 4 เดือน โค 1 ปีครึ่ง ใช้เวลาขุนนานประมาณ 6 เดือน โค 1 ปี ใช้เวลาขุนนาน 8 เดือน และโคหย่านมใช้เวลาขุนประมาณ 10 เดือน ถ้าตลาดระยะสั้นดี หรือต้องการผลตอบแทนเร็ว ต้องขุนโคขนาดใหญ่ แต่ถ้าตลาดระยะยาวดี หรือตลาดยังไม่แน่นอน ควรขุนโคอายุน้อย เพื่อประวิงเวลา ซึ่งโคจะเติบโตไปได้เรื่อยๆ ส่วนโคใหญ่จะเจริญเติบโตช้าค่อนข้างมาก
- โคเล็กต้องการอาหารที่มีระดับโปรตีนสูงกว่าโคอายุมาก ซึ่งอาหารที่มีระดับโปรตีนสูงมีราคาแพงกว่าอาหารที่มีระดับโปรตีนต่ำกว่า
- โคอายุน้อยต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง และอาหารหยาบคุณภาพดี ดังนั้นถ้าปลูกหญ้าที่มีคุณภาพสูง หรือมีหญ้าสดมากก็สามารถขุนโคเล็กได้ แต่ถ้ามีฟางมาก หรือมีแต่ฟางควรขุนโคใหญ่
- ถ้าอาหารข้นมีราคาถูก ควรขุนโคตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ถ้าอาหารข้นมีราคาแพง ควรขุนโคใหญ่น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 250 กิโลกรัมเมื่อเริ่มเข้าขุน เพราะจะใช้เวลาสั้นกว่าโคที่มีอายุน้อย หรือเพื่อลดระยะเวลาการขุน
เพศโค
โดยทั่วไป การเลี้ยงโคขุนเพื่อผลิตเนื้อ เมื่อคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดแล้ว ส่วนใหญ่นิยมการขุนโครุ่นเพศผู้ที่ตอนมากกว่าโครุ่นเพศผู้ที่ไม่ตอน ส่วนโคเพศเมียจะเป็นโครุ่น รวมถึงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- กฎหมายเมืองไทยห้ามฆ่าโคเพศเมียเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นหมันไม่สามารถให้ลูกได้
- โคเพศผู้มีเปอร์เซ็นต์ซากและคุณภาพซากมากกว่าโคเพศเมียเมื่อขุนเสร็จ
- โคเพศผู้มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าโคเพศเมียเมื่ออายุเท่ากัน และโครุ่นเพศผู้ไม่ตอน มีอัตราการเจริญเติบโตต่อวันสูงกว่าโครุ่นเพศผู้ตอน 5-10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังมีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงกว่า 3-5 เปอร์เซ็นต์
- โคเพศผู้มีโครงสร้างใหญ่กว่าโคเพศเมียเมื่ออายุเกินกว่าปีครึ่ง และโครุ่นเพศผู้ตอนจะมีอัตราการเจริญเติบโตต่อวันสูงกว่าโครุ่นเพศเมีย 10-15 เปอร์เซ็นต์
- โคเพศผู้เลี้ยงขุนทำกำไรให้แก่ผู้เลี้ยงมากกว่าโคเพศเมีย แต่ราคาโครุ่นเพศเมีย (ไม่ใช่โคแม่พันธุ์) ที่ซื้อมาขุนมักจะถูกกว่าโครุ่นเพศผู้ แต่เมื่อขุนเสร็จแล้วก็มักจะขายได้ราคาต่ำกว่าโครุ่นเพศผู้เช่นกัน
- โครุ่นเพศเมียเริ่มสะสมไขมันและโตเต็มที่ก่อนโครุ่นเพศผู้ประมาณ 1 เดือน ทำให้ส่งตลาดได้เร็วกว่า แต่ซากจะมีขนาดเล็กไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
- โคเพศเมียมีปัญหาเรื่องการเป็นสัดและการตั้งท้องในขณะขุน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการตอน แต่การตอนโคเพศเมียทำได้ยากและต้องอาศัยความชำนาญ เพราะต้องใช้วิธีผ่าตัด
- แม้ว่าโครุ่นเพศผู้ไม่ตอนจะมีอัตราการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงที่สุด แต่การเลี้ยงโคขุนเมื่อขังรวมกันหลายๆตัว จะมีปัญหาเรื่องความคึกคะนอง ขวิดกัน
- ตลาดเนื้อเกรด 1 หรือตลาดเนื้อชั้นสูง ต้องการเนื้อที่มีไขมันแทรก ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้โคเพศผู้ที่ไม่ตอนได้
- ตลาดเนื้อพื้นบ้านทั่วไปนิยมเนื้อที่มีไขมันสีเหลืองเข้มหุ้มซากหนาๆ จึงต้องการโคเพศผู้ตอน หรือโคเพศเมียที่มีอายุมาก หรือ “โคมัน” โดยให้ราคาสูงกว่าโคเพศผู้ไม่ตอน ส่วนตลาดเนื้อที่ใช้สำหรับทำลูกชิ้นต้องการเนื้อที่ไม่มีไขมันและสีเข้ม จึงนิยมใช้โคเพศผู้ไม่ตอน
สภาพโค
โคที่นำมาขุน ถ้าเป็นโค 1 ปี ควรคัดเลือกโคที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่ควรเป็นโคผอม เพราะมีโอกาสที่จะแคระแกร็น หรือขุนไม่ขึ้น เนื่องจาก โคทั่วไปจะมีอัตราการเติบโตมากในช่วงอายุ 1-2 ปี หลังจากนั้น อัตราการเติบโตจะค่อยๆลดลง
ส่วนโคที่มีอายุ 2 ปี โครงร่างได้ขยายใหญ่พอสมควรแล้ว ดังนั้น จึงสามารถคัดเลือกตัวที่มีลักษณะผอม แต่โครงร่างใหญ่นำมาขุนได้ เพราะหลังจากได้รับอาหารอย่างเพียงพอ โคจะมีอัตราการเจริญเติบโตแบบชดเชย และมีประสิทธิภาพการใช้อาหารจะสูงกว่าโคอ้วน การซื้อโคอายุ 2 ปี สามารถช่วยประหยัดเงินได้มาก และช่วยให้ได้กำไรจากส่วนต่างราคามากกว่าโคอ้วนเพราะราคาเนื้อโคก่อนขุน และหลังขุนมีราคาต่างกัน
การคัดเลือกโคเข้าขุน
การคัดเลือกโคมาขุน ควรยืนอยู่ห่างจากโคประมาณ 6-7 เมตร แล้วพิจารณาโคจากลักษณะภายนอก ดังนี้
- เลือกโคที่มีกระดูกหน้าแข้งใหญ่ ขนาดของกระดูกมีความสัมพันธ์ทางบวกกับปริมาณเนื้อโค คือ โคที่มีกระดูกใหญ่จะมีโครงร่างใหญ่ และมีเนื้อมากด้วย เพราะกระดูกเป็นตัวเกาะยึดของกล้ามเนื้อ ความจริงแล้วกระดูกมีราคาต่ำ แต่การเพิ่มเนื้อของโคที่มีกระดูกใหญ่เมื่อเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะมากกว่าการเพิ่มน้ำหนักของกระดูก และโคที่มีกระดูกใหญ่จะมีอัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารดีกว่าด้วย ส่วนโคที่มีกระดูกหน้าแข้งเล็ก แสดงว่าโคตัวนั้นมีกระดูกและโครงร่างเล็ก
- ระยะห่างระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกก้นกบมาก ทำให้โคตัวนี้มีสัดส่วนสะโพกยาว และมีเนื้อส่วนที่มีราคาแพงมาก ส่วนโคที่มีระยะห่างระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกก้นกบน้อย เป็นโคที่มีสะโพกสั้น และมีเนื้อส่วนที่ขายได้ราคาแพงน้อย
- กระดูกก้นกบควรอยู่สูงและห่างจากกันมากๆ เป็นผลให้มีเนื้อส่วนท้ายมาก ซึ่งเนื้อส่วนท้ายมีราคาแพงเช่นกัน ถ้ากระดูกก้นกบอยู่ไม่ห่างกัน เนื้อส่วนท้ายจะน้อย
- แนวสันหลังตรง และยาว หรืออีกนัยหนึ่งคือ ลำตัวยาว และลำตัวไม่ลึกนัก ซึ่งปกติส่วนครึ่งล่างของกลางลำตัวโคจะมีเนื้อน้อยและราคาต่ำ
การตอน
การตอน เป็นวิธีทำให้โคไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศได้ เพื่อจุดประสงค์ทำให้โคมีน้ำหนักเพิ่มได้เร็ว รวมถึงเหตุผลอื่น ได้แก่
- เพื่อความสะดวกในการเลี้ยงดู กล่าวคือ ถ้าเลี้ยงโคที่ไม่ได้ตอนหลายตัวในคอกเดียวกันจะเกิดปัญหาขวิดกันเป็นแผล และคอกพัง ถ้าตอนแล้วปัญหานี้จะลดน้อยลง
- ทำตามตลาดต้องการ กล่าวคือ ตลาดชั้นสูงและตลาดพื้นบ้านในภาคกลาง จะต้องการเนื้อโคที่มีไขมันมาก โคที่ไม่ตอนจะไม่มีไขมันหรือถ้ามีก็น้อยมาก ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด อย่างไรก็ตามโคในภาคใต้หรือตลาดมาเลเซีย นิยมโคที่ไม่ตอนมากกว่าโคที่ตอนแล้ว
การตอนโคควรทำตั้งแต่เริ่มขุน ถ้าหากทำการตอนระยะหลังเมื่อโคอ้วนแล้วจะทำให้โคบอบช้ำมาก และอาจจะชะงักการการเติบโตไประยะหนึ่ง
อาหาร และการให้อาหาร
1. อาหารข้น
อาหารข้นเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงโคขุน เนื่องจากเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมากกว่าอาหารปกติที่โคกิน เช่น อาหารหยาบทั่วไป เนื่องจาก การขุนโคมีระยะการเลี้ยงขุนเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งต้องทำให้โคมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นให้เร็วที่สุด อาหารขั้นอาจได้จากอาหารสำเร็จรูปตามท้องตลาด และการหาวัตถุดิบมาผสมเอง แต่โดยทั่วไปเกษตรกรมักหาแหล่งวัตถุดิบมาผสมเป็นอาหารข้นใช้เอง เช่น ข้าวโพด รำ และปลายข้าว กากมันสำปะหลัง กระดูกป่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ใบกระถิน ยูเรีย รวมถึงผงแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น
การผสมอาหารข้น ควรนำเอาวัตถุดิบที่ใช้น้อยเช่น ยูเรีย เกลือ กระดูกป่น และวิตามิน ผสมกับอาหารประเภทพลังงานเพียง 20-30 กิโลกรัม ก่อน แล้วค่อยนำส่วนผสมอื่นเข้าผสม เพื่อให้วัตถุดิบที่มีปริมาณน้อยกระจายในวัตถุดิบอื่นได้อย่างทั่วถึง
การจัดเตรียมอาหารข้น
อาหารข้นประกอบด้วย อาหารประเภทพลังงาน อาหารประเภทโปรตีน เกลือแร่ วิตามิน และสารเสริมต่างๆ วัตถุดิบที่ต้องใช้ปริมาณมากที่สุด คือ อาหารพลังงาน เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ปลายข้าว รำ และมันสำปะหลัง การที่จะเลือกใช้ชนิดใดนั้น ขึ้นกับราคาในขณะนั้น และความสะดวกในการจัดหา
สำหรับอาหารโปรตีนที่นิยมใช้ คือ ใบกระถิน และยูเรีย แต่การใช้ยูเรียมีข้อจำกัด คือ สามารถใช้ยูเรียได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ของอาหารข้น และต้องผสมให้เข้ากันดี มิฉะนั้นแล้ว ถ้าโคตัวใดได้รับยูเรียเข้าไปมากเกินไปก็จะถึงตายได้ และควรใช้กับโคที่มีตั้งแต่อายุ 7 เดือนขึ้นไป ส่วนเกลือป่น และกระดูกป่น จำเป็นต้องมีอยู่ในอาหารข้นประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าโคกินฟางเป็นอาหารหลัก อาจเพิ่มแคลเซียมจากเปลือกหอย หรือปูนมาร์ล 0.5% วิตามินส่วนใหญ่จุลินทรีย์ในกระเพาะสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาอย่างเพียงพอ ยกเว้นวิตามินเอซึ่งร่างกายต้องการในปริมาณมาก อาจต้องเสริมลงในอาหารข้นบ้าง แต่ถ้าโคกินหญ้าสด หรืออาหารข้นที่มีข้าวโพด และใบกระถินอยู่พอควรก็ไม่ต้องเติม ส่วนรำเป็นอาหารที่ดี แต่มีปัญหาเรื่องการหืน จึงไม่ควรใช้รำเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพด และข้าวฟ่างที่ใช้ผสมอาหารควรบดเพียงหยาบๆ หรือเพียงบีบให้แบนยิ่งดี
2. อาหารหยาบ
หญ้าสด คือ อาหารหยาบที่เป็นอาหารหลักของโค โดยหญ้าสดเป็นแหล่งเยื่อใยที่ช่วยระบบย่อยอาหาร แหล่งวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ และจำเป็นอย่างยิ่งที่โคต้องกินหญ้าในทุกวัน เนื่องจาก หญ้าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของจุลินทรีย์ในกระเพาะของโค หญ้าสดควรหญ้าอ่อนมีอายุประมาณ 15 ถึง 21 วัน
แหล่งของหญ้าอาจเป็นหญ้าที่หาได้จากท้องไร่ปลายนา โดยเฉพาะในฤดูฝนจะมีปริมาณที่เพียงพอ และหาได้ง่าย แต่หากเป็นฤดูแล้งมักจะขาดแคลน ทั้งนี้ สามารถแก้ปัญหาด้วยการปลูกหญ้าในแปลง แต่อาจต้องใช้น้ำเพื่อการดูแลมากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูแล้ง หญ้าที่ควรปลูกเลี้ยงโคขุน คือ หญ้าขน หญ้ารูซี่ และหญ้ากินนี
นอกจากนั้น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือใบพืชบางชนิดก็ถือเป็นแหล่งอาหารหยาบที่สามารถหาได้ง่าย เช่น ฟางข้าว เปลือกสับปะรด ใบข้าวโพด ใบกระถิน ใบมันสำปะหลัง ยอดอ้อย ต้นกล้วย เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็สามารถทดแทน และเป็นแหล่งอาหารเสริมจากหญ้าได้เป็นอย่างดี
3. กากน้ำตาล
กากน้ำตาลเป็นผลพลอยได้จากการหีบอ้อย ซึ่งกากน้ำตาลอุดมไปด้วยอาหารประเภทแป้ง มีรสหวาน สัตว์ชอบกิน แต่มีโปรตีนน้อยมาก การให้โคกินจะไม่ให้ผสมกับน้ำ แต่จะใช้ราดใส่ในอาหารหยาบหรืออาหารข้น เช่น ราดผสมฟาง ราดผสมกับอาหารข้น เป็นต้น
กากน้ำตาลให้พลังงานสูง แต่ไม่ควรให้เกิน 20% เพราะจะทำให้โคท้องร่วง เนื่องจากมีโพแทสเซียมอยู่มาก มันสำปะหลังเป็นอาหารที่โคชอบกินมาก ส่วนสารเสริมต่างๆ ได้แก่ สารเร่งการเจริญเติบโต เช่น รูเมนซิน และยาปฏิชีวนะ ก็อาจใช้ตามความจำเป็น
ประโยชน์ของกากน้ำตาล
ลูกโค (ยังไม่หย่านม)
-น้อยมาก
-มีโปรตีนต่ำ แนะนาให้ใช้ราอ่อนแทนจะดีกว่า ถ้าจะให้ลูกโคกินกากน้ำตาล ห้ามผสมกับยูเรีย
โครุ่นและแม่โครีดนม
-น้อยมาก
-มีโปรตีนต่ำ แนะนาให้ใช้อาหารเม็ด หรือ ราแทน
โคขุน (ระยะแรก)
– น้อยมาก
– โคต้องการโปรตีนมาก เพื่อสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อ
โคขุน (ตั้งแต่ 4-5เดือนขึ้นไป)
– มาก
– ช่วยเพิ่มไขมันแทรกในเนื้อ แนะนำให้โคกินกากน้ำตาลตามใจชอบ โดยค่อยๆเพิ่มทีละน้อย
4. แร่ธาตุก้อน
นอกจากอาหารหลักที่เป็นแป้ง โปรตีน ไขมัน และวิตามิน แล้ว การเลี้ยงโคขุนจำเป็นต้องเสริมแร่ธาตุให้แก่โคด้วย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ทองแดง เป็นต้น เพื่อเสริมการทำงานของร่างกาย และส่งเสริมการเจริญเติบโต รวมทั้งกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
วิธีการเสริมแร่ธาตุ
จัดหาแร่ธาตุก้อนห้อยไว้เหนือรางอาหาร เพื่อให้โคเลียกิน แต่หากไม่มีแร่ธาตุก้อน ให้เสริมเกลือผสมกับอาหารหรือใช้แร่ธาตุผงผสม
อาหารที่เป็นพิษ
- ข้าวนึ่ง
โคชอบกินข้าวนึ่ง เนื่องจากเป็นแป้งสุกที่ทีรสหวาน เมื่อโคกินเข้าไปจะเกิดการหมักของจุลินทรีย์ทำให้เกิดแอลกอฮอล์ และกรดในระบบทางเดินอาหาร จนกัดกระเพาะได้ ซึ่งไม่มียารักษา แต่ป้องกันได้โดยไม่ให้โคกินข้าวนึ่งหรือให้กินในปริมาณน้อย2. ปุ๋ยยูเรีย - ปุ๋ยยูเรีย
ที่ใช้สำหรับอาหารโคนิยมใช้สำหรับผสมกับอาหารหยาบ เพื่อช่วยในการหมัก และเป็นแหล่งเสริมโปรตีน ซึ่งต้องผสมในอัตราที่พอเหมาะ - มันสำปะหลัง
มันสำปะหลังสด ทั้งใบสด และหัวสด มีสารพิษไซยาไนด์ ถ้าโคกินมากจะทำให้โคป่วยตายได้ รวมถึงเกิดแก๊สในกระเพาะมากทำให้โคท้องโตจากแก๊สได้ แต่สามารถลดพิษได้โดยการนำใบหรือหัวที่ผ่าแล้วมาตากแดดแดดให้แห้งก่อน - ถุงพลาสติกหรือผ้า
โคมีพฤติกรรมที่ชอบเลีย และกินถุงพลาสติกหรือเสื้อผ้า เพราะมีรสจากการปนเปื้อนของอาหาร สิ่งเหล่านี้ เมื่อโคกินเข้าไปจะย่อยไม่ได้ และเกิดอุดตันในระบบทางเดินอาหาร ทำให้โคจะกินอาหารน้อยลง และสูบผอม ซึ่งไม่มียารักษา ป้องกันได้โดยหมั่นเก็บถุงพลาสติก เศษผ้า หรือวัสดุต่างๆออกจากบริเวณเลี้ยงให้หมด
เทคนิคการขุนโค
ระยะแรก
เป็นช่วงเริ่มขุนให้ใช้อาหารข้นตามสูตรที่กล่าวมาแล้ว วันละ 2 ครั้ง
ระยะที่สอง
เป็นช่วงก่อนเดือนสุดท้ายของการขุน 1 เดือนให้เพิ่มการให้อาหารข้นเป็น วันละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งให้น้อยกว่าระยะแรกตัวละครึ่งกิโลกรัม
ระยะสุดท้าย
คือเดือนสุดท้ายของการขุนให้เปลี่ยนแปลงสูตรโดยการเพิ่มปริมาณมันเส้นเพื่อให้โคอ้วนเร็วขึ้นดังนี้
สัปดาห์ที่ 1 : เพิ่มมันเส้น 2.5 กิโลกรัม จากอาหารข้น 100 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 2 : เพิ่มมันเส้น 5.0 กิโลกรัม จากอาหารข้น 100 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 3 : เพิ่มมันเส้น 7.5 กิโลกรัม จากอาหารข้น 100 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 4 : เพิ่มมันเส้น 10 กิโลกรัม จากอาหารข้น 100 กิโลกรัม
ในเดือนสุดท้าย ให้อาหารวันละ 3 ครั้ง เช่นเดียวกับระยะที่สองคือให้น้อยกว่าปกติครึ่งกิโลกรัมเป็นการเร่งให้โคขุนมีความสม่ำเสมอในการกระจายไขมันพอกตัว ทำให้เนื้อที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ เมื่อตัดแต่งขายจะได้ราคาดีมากกว่าโคขุนที่มีการกระจายไขมันที่ไม่สม่ำเสมอ
ลักษณะโคเมื่อพร้อมส่งตลาด
การเจริญเติบโตจากเริ่มขุนกระทั่งส่งตลาด มี 3 ระยะดังนี้
ระยะที่ 1
เป็นการเพิ่มการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้มีโครงร่างใหญ่พร้อมรับเนื้อ และมันที่จะสะสมในการขุนระยะต่อไป โครงร่างที่ใหญ่จะใช้เวลาในการสะสมเนื้อและไขมันนานกว่าโคที่มีโครงร่างเล็กกว่า
ระยะที่ 2
เป็นการสะสมกล้ามเนื้อทั่วร่างกายที่สำคัญ คือ สันในสันนอก หัวไหล่ สะโพก หากพบว่าโคตัวใดขุนมาถึงระยะนี้คือประมาณ 3 เดือน แล้วโคยังมีลักษณะไม่เหมาะสมควรตัดออกขายเป็นโคมัน ไม่ควรเก็บไว้ขุนต่อเพราะจะไม่มีกำไรลักษณะไม่เหมาะสมดังกล่าว มี 2 ประการคือ
– ผอม แสดงว่าโคพันธุ์ไม่ดี เลี้ยงไม่โต อาจเนื่องมาจากเป็นโคที่มีโครงร่างใหญ่เกินไปหรือไม่ก็โคลักษณะไม่ดี
– อ้วนกลม แสดงว่าโคมีโครงร่างเล็กเกินไป เลี้ยงเพียง 4 เดือนก็กลมเสียแล้วทำให้น้ำหนักส่งตลาดต่ำเกินไป ได้ราคาไม่ดีเท่ากับโคโครงร่างใหญ่
ระยะที่ 3
เป็นการสะสมไขมันได้แก่ ไขมันหุ้มตัว และไขมันแทรกกล้ามเนื้อที่พร้อมส่งตลาดจะมีความกลมจนเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบริเวณสะโพกและโคนหาง จะปรากฏมีก้อนไขมัน 2 ก้อนอยู่ข้างโคนหาง สวาปไม่บุ๋ม เนื้อแน่น หาดปล่อยเกินระยะนี้ไป โคจะกินแต่อาหารแต่จะไม่โต และเนื้อจะยุบไม่เต่งตึง ควรรีบจับขายทันที โคขุนที่ดี ควรมีไขมัน(ไขมันหุ้มสันนอก)ที่วัดจากกลางหลังหนาไม่ต่ำกว่า 1.5 เซนติเมตร
ขอบคุณข้อมูลจาก http://pasusat.com/โคขุน