โคพันธุ์ลิมูซิน – Limousin Breed
ดร.สรรเพชญ โสภณ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
จุดกำเนิดพันธุ์
โคพันธุ์ลิมูซิน เป็นโคที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานพอ ๆ กับทวีปยุโรป ภาพเขียนโคในถ้ำLascaux ใกล้กับเมือง Montignac ประเทศฝรั่งเศส ประมาณอายุได้ราว 20,000 ปี มีลักษณะเหมือนกับโคลิมูซินในปัจจุบัน
โคสีทองแดง เป็นโคพื้นเมืองในพื้นที่ตอนใต้ของฝรั่งเศสคือในบริเวณ Limousin และ Marche ซึ่งบริเวณแถบนี้เป็นเนินดินปนหิน และอากาศแปรปรวน การปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก ที่ทำได้ดีที่สุดคือการเลี้ยงปศุสัตว์ จึงทำให้มีการเลี้ยงโคลิมูซินในแถบนี้มาก ซึ่งโคลิมูซินสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเหล่านี้ได้ดี และเนื่องจากเป็นบริเวณที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก จึงทำให้บริเวณนี้ไม่ถูกรบกวน ทำให้เกษตรกรสามารถที่จะพัฒนาพันธุ์โคขึ้นมาโดยไม่มีพันธุกรรมจากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในสมัยที่ยังต้องอาศัยแรงงานจากสัตว์ โคลิมูซินก็ถูกใช้เป็นโคงานได้เป็นอย่างดี และก็ยังสามารถผลิตเนื้อคุณภาพดีได้อีกด้วย จากรายงานของ Rene Lafarge ในปี ค.ศ. 1698 บอกว่า โคลิมูซินเป็นโคที่รู้จักกันอย่างดีว่าเป็นโคที่เป็นทั้งโคงานและโคเนื้อที่ยอดเยี่ยม ในช่วงหลังจากปลดจากการทำงานแล้ว โคเหล่านี้ก็จะถูกขุนเพื่อฆ่า
ในลักษณะของการเลี้ยงโคในฝรั่งเศส จะเลี้ยงพื้นที่ ๆ จำกัด แต่โคลิมูซิน จะถูกปล่อยให้อยู่กลางแจ้งเกือบตลอดเวลา ในสภาพอากาศที่แปรปรวนของแถบนี้ แม่โคก็สามารถคลอดลูกกลางแจ้งทุกปี และโคสาวก็จะถูกผสมให้เกิดลูกใหม่เมื่ออายุ 3 ปี
ในช่วงปี ค.ศ. 1700 กว่า ๆและ กลาง ๆ ศตวรรษที่ 1800 ได้มีผู้เลี้ยงโคลิมูซินในฝรั่งเศส บางคนพยายามผสมข้ามพันธุ์โคเพื่อให้โคมีโครงร่างและขนาดใหญ่ขึ้น ในปี ค.ศ. 1840 ผู้เลี้ยงหลายคนผสมโคลิมูซินกับโคพันธุ์ Agenaise ทำให้โคสูงขึ้นมีปริมาณเนื้อส่วนหลังเพิ่มขึ้น แต่ในที่สุดก็พบว่าไม่เหมาะสมเพราะว่าโคเหล่านี้ต้องการอาหารมากขึ้นเกินกว่าที่จะหาให้ได้ในสภาพการเลี้ยงในพื้นที่เดิม มีแต่เพียงบริเวณใกล้กับ Limoges เท่านั้นที่โคลูกผสมนี้ยังเลี้ยงอยู่เพราะสามารถปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ได้
ผู้เลี้ยงโคลิมูซินยอมรับความผิดพลาดและหันกลับมาปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ ผู้นำในการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ Charles de Leobary และ Royer โดยคัดเลือกจนได้ฝูงที่ได้มาตรฐานของพันธุ์แท้ลิมูซิน ในช่วงปี ค.ศ. 1854-1896 ฝูงของ de Leobary ชนะการประกวดโคที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสคือ Bordeaux Competition ถึง 265 รางวัลโคลิมูซินจึงเป็นโคที่สร้างความประทับใจในงานประกวดโคมาก ในระหว่างปี ค.ศ. 1850s เป็นต้นมา นอกจาก นี้ ในการประกวดซากโคครั้งแรกที่จัดขึ้นที่เมือง Poissy ใกล้กับ Paris ซากโคลิมูซินก็เหนือกว่าโคพันธุ์อื่น ๆ จึงทำให้โคลิมูซินเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในการเป็นโคเนื้อ ในปัจจุบันโคลิมูซินก็ยังคงถูกกล่าวอ้างเป็น “butcher’s animal” ในประเทศฝรั่งเศส
จากการคัดเลือกโคตามธรรมชาติอย่างกว้างขวางทำให้เกิดการบันทึกสายพันธุ์ที่มีความโดดเด่นทั้งเพศผู้และเพศเมีย จึงได้มีการตั้งทะเบียนพันธุ์ประวัติโคลิมูซินขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1886 โดยที่ Louis Michel เป็นผู้ดูแล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษารูปลักษณะที่เป็นมาตรฐานของพันธุ์ลิมูซิน โดย Michel และกรรมการอีก 11 คน ได้ทำการคัดเลือกอย่างเข้มงวด ในช่วงปี ค.ศ. 1887 ถึง 1890 มีการประชุมกรรมการ 6 ครั้ง และมีการพิจารณาเพื่อจดทะเบียนโคลิมูซิน 1,800 ตัว จาก 150 ฟาร์ม แต่มีเพียง 674 ตัว (ผู้ 117 ตัว เมีย 497 ตัว) เท่านั้นที่ยอมรับให้จดทะเบียนได้ ซึ่งการก่อตั้งทะเบียนประวัติโคลิมูซินขึ้นมาทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นความสำคัญ จึงได้จัดให้มีการประกวดและขายโคลิมูซิน จนถึงปัจจุบันนี้ในงานประกวดก็ได้มีการแสดงลักษณะที่สำคัญและลักษณะที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของโคลิมูซินแก่ผู้เข้าชมงานด้วย
ในเดือนกรกฎาคม 1914 มีจำนวนโคลิมูซินจดทะเบียนทั้งสิ้น 5,416 ตัว และได้มีการปรับปรุงสมุดทะเบียนประวัติใหม่ 2 ครั้ง ในปี 1923 และปี 1937 ซึ่งการปรับปรุงทั้ง 2 ครั้ง เพื่อปรับลักษณะของพันธุ์ที่ผู้เลี้ยงได้มีการปรับปรุงขึ้น แสดงให้เห็นว่า โคลิมูซินได้มีการพัฒนาพันธุ์ปรับปรุงคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดช่วงปลายศตวรรษ 1800 ถึงต้นศตวรรษ 1900 ผู้เลี้ยงโคลิมูซินให้ความสนใจมากเกี่ยวกับการพัฒนารูปร่างลักษณะของโคลิมูซิน โคลิมูซินเป็นโคขนาดกลางเมื่อเทียบกับโคยุโรปพันธุ์อื่น ๆ แต่ยังคงเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะที่ยอดเยี่ยม เขาคัดเลือกโคให้มีหนังสีทองแดงเข้ม และสีขาวสาลีในส่วนขาหลัง มีช่วงอกที่ลึก สันหลังตรงแข็งแรง โคนหางสูงและกล้ามเนื้ออกหลังที่แข็งแรง ประสิทธิภาพการเจริญเติบโตดี แข็งแรง ปรับตัวได้ดี และเป็นโคที่เหมาะสมกับความตั้งใจที่จะผลิตเนื้อมากที่สุด
การเลี้ยงโคลิมูซินทั่วโลก
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1800s ได้มีการนำเข้าโคจากอังกฤษเข้าไปผสมข้ามกับโคพื้นเมืองในอเมริกา ส่วนใหญ่จะมีสายพันธุ์โคของสเปนผสมอยู่ก่อนแล้ว ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1900 ได้มีการนำเข้าโคชาร์ลโรเลย์มายังคิวบา และเม็กซิโก และเข้ามายังอเมริกาในต้นปี 1930s จากการยอมรับในพันธุ์ชาร์ลโรเลย์ ประกอบกับความนิยมผลิตโคลูกผสมเพื่อผลิตเนื้อทำให้เกิดการมองหาโคพันธุ์อื่น ๆ จากยุโรป รวมถึงโคลิมูซินด้วย ในช่วงปี ค.ศ. 1960s บทความใน Western Livestock Journal ได้กล่าวถึงความประทับใจในโคลิมูซิน จากการที่ได้เดินทางไปฝรั่งเศส และผู้เลี้ยงโคหลาย ๆ คนที่ได้เดินทางไปฝรั่งเศสก็ได้มีการกล่าวถึงโคพันธุ์ใหม่ที่ได้พบมาคือ ลิมูซิน แต่ก็ไม่สามารถนำเข้ามายังอเมริกาได้เนื่องจากในฝรั่งเศสยังมีโรคปากและเท้าเปื่อยอยู่ แต่รัฐบาลแคนาดากลับยอมรับโคจากฝรั่งเศสหลังจากผ่านโปรแกรมการกักโรคที่เข้มงวด 3 ขั้นตอน คือ การกักสัตว์ก่อนออกจากฝรั่งเศส 3 เดือน และนำมากักกันไว้บนเกาะ ในอ่าว St. Laerence ของแคนาดาอีก 3 เดือนและระยะสุดท้าย คือ กักกันในฟาร์มที่เลี้ยงอีก 30 วัน เมื่อผ่านทั้ง 3 ขั้นตอนจึงสามารถผลิตน้ำเชื้อขายได้ทั่วอเมริกาเหนือ
พ่อโคลิมูซิน ตัวแรกที่นำเข้ามายังแคนาดาคือ Prince Pompadour ซึ่งเป็นลูกของ Baron เกิดที่ Pompadour Estate ในฝรั่งเศส โดยการจัดการของ Adrien de Moustier และคนอื่น ๆ พ่อวัวได้เดินทางมาถึงแคนาดาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1968 ซึ่ง Prince Pompadour นี้ได้ผ่านการคัดเลือกมาโดยนักปรับปรุงพันธุ์ชาวฝรั่งเศส Emil Chastanet ให้เป็นพ่อพันธุ์คุมฝูงอยู่ หลังจากนำเข้ามาแล้วได้นำไปแสดงในอเมริกาในงานประกวดโคหลายแห่ง พ่อโคตัวแรกเข้ามาอยู่ในอเมริการเป็นการถาวรในปี ค.ศ. 1971 โคลิมูซินที่นำเข้ามายังอเมริกาตัวแรกคือ Kansas Colonel ซึ่งเกิดและเลี้ยงในแคนาดามาก่อน นำเข้าโดย Bob Haag แห่งเมือง Topeka รัฐ Kansas เพื่อกลุ่มผู้เลี้ยงโคลิมูซินในแคนซัส น้ำเชื้อโคลิมูซินจากพ่อพันธุ์ Prince Pompadour นำเข้ามาใช้ในอเมริกาครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 1969 โดยผสมกับแม่โคแองกัส ในฟาร์มของ Colonel E.J. Geesen แห่งเมือง Agate, Colorado
หลังจากการนำเข้า Prince Pompadour มายังแคนาดาแล้ว ต่อมาก็มีการนำเข้าพ่อพันธุ์ลิมูซินอีกหลายตัวในปี 1969 ได้แก่ Decor, Diplomate, Dandy, Prairie Danseur และ Prairie Pride พ่อพันธุ์เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของพันธุ์ลิมูซินและพัฒนาพันธุ์ลิมูซินจนเป็นที่ยอมรับของผู้เลี้ยงโคเป็นอย่างดี หลังจาก 10 ปี ผ่านไป พ่อพันธุ์เหล่านี้หลายตัวยังคงมีตำแหน่งสูงใน sire summary ของ North American Limousin Foundation (NALF) และเมื่อมีการนำโคลิมูซินเข้ามายังอเมริกาเหนือ มีผู้เลี้ยงโคสนใจมากจึงทำให้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ลิมูซินในอเมริกาและแคนาดา และจากการประชุมกันในฤดูใบไม้ผลิในปี 1968 ที่ the Albany Hotel ใน Denver มีผู้เลี้ยงโคร่วมประชุม 15 คน จึงได้จัดตั้ง the North America Limousin Foundation (NALF) ขึ้น โดยมี Bob Purdy แห่งเมือง Buffalo, Wyoming เป็นประธานคนแรก จากประสบการณ์ในการเลี้ยงโคชาร์ลโรเลย์มาก่อน ทำให้ Purdy ทำการทดสอบสมรรถภาพการผลิตของโคลิมูซินได้เป็นอย่างดี และช่วยให้ NALF พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่เขาเป็นประธานอยู่ และรองประธานคนที่ 1 Dick Goff แห่งเมือง Denver ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก็มีส่วนช่วยในการดำเนินงานของ NAFL มาก โดยบริษัทโฆษณาของ Goff เคยทำงานให้กับสมาคมชาร์ลโรเลย์มาก่อน จึงเห็นการพัฒนาการในระยะแรกของสมาคมใหม่ ซึ่งเขาพบว่า ในช่วง 3-5 ปีแรกของสมาคมจะประสบปัญหาอย่างหนักในด้านการเงิน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการอยู่รอด Goff จึงดำเนินการให้ NALF มีฐานการเงินที่มั่นคงโดยเขาได้ขายค่าสมาชิกเริ่มต้นจัดตั้ง NALF 100 คน ในราคาคนละ $ 2500 โดยสมาชิกเริ่มต้นแต่ละคนจะได้รับการจัดสรรหุ้นส่วนของน้ำเชื้อของ Prince Pompadour ที่ NALF เป็นเจ้าของ ทำให้โคลิมูซิน เริ่มต้นได้อย่างดีในอเมริกาเหนือ
จากการเริ่มต้นอย่างเข้มข้นใน Oklahoma, Texas, South Dakota และwestern Canadaโคลิมูซิน ได้กระจายออกไปทั่วอเมริกาเหนือ จากลักษณะซากที่ยอดเยี่ยมทำให้โคลิมูซินได้รับความสนใจอย่างมากในอุตสาหกรรมเนื้อ จนเป็นที่กล่าวว่าป็น “Carcass Breed”
NALF เริ่มต้นจากสมาชิก 99 คน ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 12,000 คน และมีโคลิมูซินจดทะเบียนมากกว่า 1 ล้านตัว จากจำนวนจดทะเบียนประจำปีโคลิมูซินเป็นโคจากยุโรปที่มีจำนวนมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และได้รับการยอมรับมากในอเมริกาในฐานะที่เป็นโคที่ผลิตเนื้อหลักที่มีประสิทธิภาพมากพันธุ์หนึ่งในอุตสาหรรมเนื้อ
ในประเทศอังกฤษ มีการนำเข้าโคลิมูซินในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1971 จำนวน 179 ตัว และจากการที่โคลิมูซินเป็นโคพันธุ์มีคุณภาพยอดเยี่ยม เช่น คลอดง่าย ทนทาน มีความสามารถในการผลิตเนื้อมีไขมันแทรก มีสัดส่วนของกระดูกและไขมันต่ำ จึงทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1986 15 ปีหลังจากการนำเข้าครั้งแรกโคลิมูซินเป็นโคเนื้อพันธุ์ที่มีการผสมเทียมสูงที่สุดอันดับ 1 อันดับ 2 ได้แก่ เฮอร์ฟอร์ด และยังคงอันดับ 1 มาถึงปัจจุบัน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1998 ตัวเลขจาก British Cattle Movement Service ยืนยันว่าโคลิมูซินเป็นโคเนื้อที่มีจำนวนมากที่สุดในสหราชอาณาจักร
ในออสเตรเลียมีลูกผสมลิมูซินเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1973 และได้มีการนำเข้าโคลิมูซินพันธุ์แท้ในปี ค.ศ. 1975 โคลิมูซินเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบันมีโคจดทะเบียนมากกว่า 10000 ตัว ต่อปี ทำให้โคลิมูซินเป็นพันธุ์โคเนื้อที่มีจำนวนมากเป็นอันดับที่ 6 ในออสเตรเลีย
ปัจจุบันมีการเลี้ยงโคลิมูซินอยู่กว่า 70 ประเทศทั่วโลก และได้มีการจัดตั้ง the International Limousin Council ขึ้นเมื่อเดือน กันยายน ค.ศ. 1973 เพื่อประสานงานวิจัยและส่งเสริมการเลี้ยงโคลิมูซิน และกระตุ้นให้มีการบันทึกและจดทะเบียนอย่างมีแบบแผนเดียวกัน
ลักษณะประจำพันธุ์
โคลิมูซินเพศเมียโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 650 ก.ก. ส่วนเพศผู้เต็มวัยจะหนักประมาณ 1000 ก.ก. โดยจะมีทอง-แดง หรือใกล้เคียงแต่จะไม่เข้มหรือซีด แต่จะมีสีจางลงบริเวณใต้กระเพาะ ด้านในโคนขา รอบตา และจมูก รอบทวารหนักและปลายหาง หัวจะสั้น หน้าผากกว้าง จมูกกว้าง มีเขาเล็กโค้งไปด้านหน้า ลำตัวส่วนหน้าเต็ม อกกลม ซี่โครงโค้งมีกล้ามเนื้อหลังเต็มสะโพกกลม โคนขาโค้งมน ขากระดูกเล็กแข็งแรง และตรง
โคลิมูซิน เป็นโคที่คลอดลูกง่าย มีความสมบูรณ์พันธุ์สูง เปอร์เซ็นต์ลูกหย่านมสูง มีความสามารถในการผลิตเนื้อมีไขมันแทรก มีสัดส่วนของกระดูกและไขมันต่ำ จึงสามารถผลิตเนื้อได้ในทุกระยะของอายุ
แม่โคจะให้ผลผลิตยาวนาน จะพัฒนาโครงสร้างเต็มที่จนอายุ 6-8 ปี และให้ลูกได้อย่างสม่ำเสมอ จนถึงอายุ 10-11 ปี ซึ่งทำให้แม่โคสามารถผลิตเนื้อคุณภาพดีได้แม้จะเลี้ยงลูกมาหลายตัว
การเลี้ยงโคลิมูซินในประเทศไทย
ประเทศไทยได้มีการนำเข้าโคลิมูซิน มาเพื่อรีดน้ำเชื้อ ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง และบริการผสมเทียมแก่เกษตรกรโดย กรป. กลาง มากว่า 30 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตลูกผสมลิมูซินจากโคพื้นเมืองหรือโคลูกผสมบราห์มันเพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ แต่ยังไม่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่จากโคลิมูซิน จึงน่าที่จะมีการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อจากโคลูกผสมลิมูซิน ภายในประเทศอย่างจริงจัง หากมีการให้ความสนใจและพัฒนาพันธุ์อย่างจริงจังเชื่อว่าเราน่าจะได้โคเนื้อพันธุ์ดีเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อีกพันธุ์หนึ่ง
Link ที่เกี่ยวข้องกับวัวพันธุ์ลิมูซิน
- http://en.wikipedia.org/wiki/Limousin_(cattle)
- http://www.ansi.okstate.edu/breeds/cattle/limousin/
- http://www.omafra.gov.on.ca/english/livestock/beef/facts/01-051.htm
- http://dyfrilimousin.com/
- http://www.parkdalewillows.com.au/index.shtml
- http://www.livestock-sales.co.uk/2008/pedigree_cattle/limousin/0809ronick.html
- http://www.harmonys-holiday.com/wellness-hotel/limousin-cattle-breeding
บทความนี้ ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ โคพันธุ์เนื้อ
ของ บ.พรายทะเลพับลิชชิ่ง จำกัด (โคบาลแมกกาซีน)
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thailivestock.com/cattle_handling/โคพันธุ์ลิมูซิน-limousin-cattle