คำว่า “บราห์มัน” มาจาก Brahmini ที่มาของชื่อ คือ มีประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ที่มีพ่อโคศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อพราหมณีโคพันธุ์บราห์มัน มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศ อินเดีย (India) แต่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีชื่อเรียกว่าพันธุ์อเมริกันบราห์มัน (American Brahman) ในเวลาต่อมาโคสายพันธุ์อเมริกันบราห์มัน เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ ระหว่าง 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์กีร์, พันธุ์กูเซอร์ราจช์ และพันธุ์เนลลอร์
ลักษณะตัวโดยทั่วไปลำตัวมีสีหลากหลายตั้งแต่ สีขาว เทาอ่อน สีลายและจนถึงเกือบดำ จมูก กีบและพู่หางมีสีดำ บางตัวอาจมีสีแดง จึงเรียกว่า บราห์มันแดง (Red Brahman) แต่ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด คือ สีขาวและสีเทา โคสายพันธุ์อเมริกันบราห์มันชนิดที่เลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย แล้วนำมาคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์ และฟาร์มของเกษตรกรรายใหญ่ในประเทศ
โคสายพันธุ์อเมริกันบราห์มันเป็นโคขนาดกลาง เพศผู้มีน้ำหนักตัวประมาณ 800 – 900 กิโลกรัม และมีพ่อพันธุ์บางตัวน้ำหนักโตเต็มที่มากถึง 1,800 กิโลกรัม ในประเทศไทยก็ยังมีให้เห็น ส่วนเพศเมีย จะมีน้ำหนักมาตรฐาน 500 – 700 กิโลกรัม และมากที่สุดถึง 800 กิโลกรัม โดยแม่โค โดยแม่โคจะให้ลูกเมื่อน้ำหนักแรกเกิดปานกลาง (30 – 32 กิโลกรัม) และน้ำหนักลูกเมื่อหย่านมค่อนค้างน้อย (220 – 230 กิโลกรัม)
ลักษณะของโคบราห์มัน เป็นโคที่มีเขาขึ้นชันและงุ้ม มีตระโหนก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ต่อมาจากกล้ามเนื้อไหล่ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ส่วนหูนั้นจะยาวชี้ลงข้างล่างจนถึงริมผีปาก แต่จะสั้นกว่าพันธุ์อินดูบราซิล มีหนังหลวม เหนียงใต้คางจะใหญ่ หนอกใหญ่และหย่อน ขณะที่ผิวหนังใต้ท้องก็จะหย่อน พู่หางสีดำ ส่วนขานั้นค่อนข้างยาว และจะมีกล้ามเนื้อตรงขาหลังมาก โคนขาใหญ่ มีร่างกายล่ำสัน ลำตัวมีความลึกมาก และยาวได้สัดส่วน หน้าผากยาว คอสั้น ส่วนอกกว้างลึก หลังค่อนข้างตรงเป็นโคที่เลี้ยงดูง่าย ต้องการดูแลน้อย เหมาะสำหรับเลี้ยงในเขตร้อน เพราะมีความทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี ทนต่อโรคและแมลงได้ดี แต่ไม่ทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็น อีกทั้งแม่โคยังเลี้ยงลูกเก่ง ให้น้ำนมพอสมควร ใช้เป็นทั้งโคพันธุ์เนื้อและโคงาน มีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า มีความสมบูรณ์พันธุ์ (Fertility) ค่อนข้างต่ำ เปอร์เซ็นของซากต่ำ เมื่อเทียบกับโคสายพันธุ์อื่น (ชาโรเล่ย์ แองกัส แบรงกัส) มีนิสัยระวังภัยสูง เชื่องช้าและขี้เล่น ถ้าอยู่ในลักษณะคอกหรือโรงเรือน เพศเมียผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุราว 1.8-2 ปี ซึ่งค่อนข้างช้ากว่าโคเนื้อพันธุ์ยุโรป แม่พันธุ์นั้นสามารถให้ลูกไปได้จนถึงอายุ 15 ปี ปกติใช้เป็นพันธุ์พื้นฐานในการปรับปรุงพันธุ์ ลูกผสมที่ได้จะมีลักษณะดีเด่นกว่าพ่อแม่ (Hybrid Vigor) กล้ามเนื้อของโคพันธุ์บราห์มัน สามารถขยับตัวได้เพื่อไล่แมลง และผิวหนังบริเวณคอมีการขับสารสีเหลืองออกมาซึ่งเชื่อว่าเป็นกลิ่นที่สามารถไล่แมลงได้ตามธรรมชาติ
การปรับปรุงพันธุ์ เหมาะสำหรับเป็นโคพื้นฐานเพื่อผลิตโคเนื้อคุณภาพดี และโคนม เช่น ผสมกับพันธุ์ชาร์โรเล่ย์เพื่อผลิตโคขุน และผสมกับพันธุ์โฮสสไตน์ฟรีเชี่ยน (ขาวดำ) เพื่อผลิตโคนม และผสมกับพันธุ์ซิมเมนทอล เพื่อผลิตโคกึ่งเนื้อกึ่งนม ข้อเสียอีกอย่างของโคชนิดนี้คือเป็นโคพันธุ์ที่มีอัตราการผสมค่อนข้างต่ำ ให้ลูกตัวแรกช้า และให้ลูกค่อนข้างห่าง และที่สำคัญโดยส่วนใหญ่จะชอบเลือกกินอาหารเฉพาะที่มีคุณภาพดี เมื่อหญ้าขาดแคลนก็จะทรุดง่าย ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อปล่อยเข้าแปลงหญ้าจะเดินตระเวนไปทั่วแปลงทุ่งหญ้า แล้วจึงค่อยเลือกเล็มกินหญ้า มีข้อมูลจำเพาะระบุอีกว่า โคพันธุ์บราห์มันเหล่านี้นิยมเลี้ยงกันทั่วทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งใช้เป็นโคเอนกประสงค์ทั้งในแง่ผลิตโคพันธุ์แท้ โคลูกผสมโคเนื้อ หรือ โคนม โดยใช้เป็นแม่พื้นฐานในการสร้างสายพันธุ์โคพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะกับโคพันธุ์เนื้อสายเลือดยุโรป เพื่อนำลูกไปเลี้ยงผลิตเป็นโคขุนต่อประเทศไทยเราเองมีการนำเข้าโคบราห์มันทั้งสองสายพันธุ์ คือ อเมริกันบราห์มันและออสเตรเลียนบราห์มันเข้ามาเลี้ยงปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 40 ปี และจัดเป็นโคพันธุ์หลักพันธุ์หนึ่งที่ใช้ในการผสมพันธุ์เพื่อยกระดับสายเลือดของโคพันธุ์พื้นเมืองของไทยมาโดยตลอด
ที่มา : คู่มือการเพาะเลี้ยง “โคเนื้อ & โคงาม” ฉบับสมบูรณ์ โดย จิตกร บัวปลี หน้า 68 – 69 – thaicattle.org
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.sinthornmeat.co.th/th/main/content.php?page=sub&category=4&id=9